

.
กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “การวัดและประเมินผลการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียน: Assessment in AI Era” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2568 ณ ห้องคำมอกหลวง ชั้น 5 อาคาร E-Park โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการและแนวทางการวัดและประเมินผลในบริบทของการศึกษาในยุคที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนการสอน
.
การอบรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐภรณ์ หลาวทอง คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ถ่ายทอดเนื้อหาเกี่ยวกับหลักการวัดผล การประเมินผลแบบบูรณาการ และแนวทางการปรับการประเมินให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ในยุคดิจิทัลและ AI โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐภรณ์ ได้เน้นย้ำว่า “หัวใจของการประเมินยุค AI ไม่ใช่แค่การวัดความรู้ แต่คือการเข้าใจกระบวนการเรียนรู้และศักยภาพของผู้เรียนแต่ละคนอย่างแท้จริง” ซึ่งหมายถึงการออกแบบการประเมินที่ยืดหยุ่นต่อความหลากหลายของผู้เรียน และมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมองการประเมินเป็นการสร้างทิศทางเพื่อการพัฒนาตนเอง มากกว่าการเป็นเพียงการตัดสิน
.
ในภาคปฏิบัติ วิทยากรได้แนะนำวิธีการใช้ Scoring Rubric ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการวัดและประเมินผลงานหรือการปฏิบัติงาน ซึ่งประกอบด้วยเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน และระดับคุณภาพที่แตกต่างกัน พร้อมคำอธิบายสำหรับแต่ละระดับ ทำให้การประเมินมีความเป็นปรนัย โปร่งใส และสอดคล้องกันมากขึ้น และในบริบทของยุค AI วิทยากรยังได้ชี้ให้เห็นว่าปัญญาประดิษฐ์สามารถเข้ามาช่วยสร้างสรรค์เครื่องมือ วิธีการ และนวัตกรรมสำหรับการประเมินผลการเรียนรู้ โดยเฉพาะการใช้ AI ในการออกแบบและให้คำแนะนำด้านการสร้าง Scoring Rubric ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนได้อย่างแท้จริง
.
ในช่วงท้ายของกิจกรรมอบรม เหล่าคณาจารย์และวิทยากรยังได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ “ความท้าทายของการศึกษา ในยุค AI” ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้นำเสนอประเด็นปัญหาและระดมความคิดเห็นเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภูมิทัศน์การศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป
ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับความรู้ทั้งเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และร่วมกันสร้างสรรค์แนวปฏิบัติสำหรับการบูรณาการการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 และช่วยให้ผู้สอนสามารถออกแบบการประเมินที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
กิจกรรมนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการเตรียมความพร้อมของคณาจารย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต
Post Views:
8